รวมเทคนิคการดูแลสุขภาพน้องแมว

14469
แมว สุขภาพ

เคล็ดลับดูแลสุขภาพ แมว

  • แมว เป็นสัตว์เลี้ยงที่ต้องได้รับการดูแลไม่ต่างจากมนุษย์ ทาสอย่างเราต้องให้ทั้งความรัก และเอาใจใส่ในเรื่องของสุขภาพ เพื่อให้เขามีร่างกายสมบูรณ์ ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

เรื่องสุขภาพ แมว ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทาสอย่างเราไม่ควรมองข้ามนะคะ เพื่อให้เพื่อนขนปุยมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บรบกวน อยู่กับเราได้นานๆ Petcitiz ก็มีเทคนิคการดูแลสุขภาพของเขาที่หลายคนอาจยังไม่ทราบมาฝากกันค่ะ จะมือใหม่หัดเลี้ยง หรือมือเก่ามากประสบการณ์ ก็สามารถนำไปปฏิบัติได้ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขค่ะ

1.รับวัคซีนให้ครบตามโปรแกรม

การพาเจ้าเหมียวคู่ซี้ของเราเข้ารับวัคซีนตามโปรแกรมที่กำหนด เป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดนะคะ เพื่อให้เขาได้รับวัคซีนต้านโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เรามาดูตารางการรับวัคซีนกันเลยดีกว่าค่ะ

  • 3-4 สัปดาห์แรก พาไปตรวจสุขภาพและถ่ายพยาธิ
  • 6 สัปดาห์ พาไปหยอดยาป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจ
  • 8 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หัด โรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้น โรคลิ้นอักเสบ และโรคช่องปาก
  • 9 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมีย
  • 12 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
  • 13 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หัด โรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้น โรคช่องปาก และโรคลิ้นอักเสบเป็นครั้งที่ 2
  • 14 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมีย ครั้งที่ 2
  • 16 สัปดาห์ หยอดวัคซีนป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อ ครั้งที่ 1 โดยหยอดทางจมูก
  • 19 สัปดาห์ หรือประมาณ 9 เดือน หยอดวัคซีนป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อ ครั้งที่ 2 หลังจากนั้นทุกๆ 6 เดือน พาไปตรวจสุขภาพ ถ่ายพยาธิเป็นประจำ
  • ทุกๆ 1 ปี ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หัด โรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้น โรคช่องปากและโรคลิ้นอักเสบ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมีย หยอดวัคซีนป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อ และโรคพิษสุนัขบ้า

2.ทำหมัน

การทำหมันแมว ในทางการแพทย์ถือว่าเป็นการส่งเสริมสุขภาพนะคะ เพราะจะช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพลงไปได้มาก อาทิ โรคที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ ตั้งแต่มดลูกอักเสบเป็นหนอง มะเร็งเต้านม ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น และเป็นการวางแผนครอบครัวให้ด้วย เพศเมียทำหมันได้ตั้งแต่อายุ 7 เดือนขึ้นไป หรือต้องผ่านการเป็นสัดครั้งแรกไปแล้ว และต้องมีน้ำหนัก 2 กิโลกรัมขึ้นด้วยนะคะ

ส่วนเพศผู้ทำหมันได้ตั้งแต่อายุ 12 เดือนขึ้นไป เพื่อให้การเจริญเติบโตของร่างกายสมบูรณ์ก่อน เพราะหากทำหมันก่อนครบช่วงอายุ อาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบปัสสาวะได้ และเพื่อให้การทำหมันเป็นไปอย่างปลอดภัย ไร้กังวล เราขอนำเสนอ 10 ขั้นตอนการทำหมันที่ผู้เลี้ยงควรรู้ค่ะ

การเคลื่อนย้ายแมวไปหาหมอ

ผู้เลี้ยงบางท่านใช้วิธีอุ้มแมวไปหาหมอ ช่วงแรกอาจยังไม่พบปัญหาอะไร ยังสงบสติอารมณ์ได้ แต่เมื่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น ไปเจอหมาเห่า แล้วตื่นตกใจ ทั้งข่วน ถีบ กัด เจ้าของ เพื่อดิ้นรนหนีสุดชีวิต ดังนั้น สิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ นำใส่ตะกร้าหรือกรง พร้อมปิดประตูให้สนิท ไม่ควรใช้ตะกร้าแบบเปิด 2 ฝานะคะ อาจเปิดตะกร้าหนีหายไปได้ แนะนำให้ใช้ตะกร้าฝาเดียวแล้วล็อกให้แน่น ถ้าเป็นไปได้ผูกเชือกไว้ที่ปากตะกร้าอีกชั้นหนึ่งเพื่อความปลอดภัยค่ะ

เลือกสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์

แม้ว่าสัตวแพทย์ส่วนใหญ่จะผ่าตัดทำหมันให้กับสัตว์เลี้ยงได้ แต่เราก็ต้องคำนึงถึงฝีมือ และประสบการณ์ด้วยนะคะ ลองสอบถามจากเพื่อนๆ ผู้มีประสบการณ์ หรือสอบถามจากสัตวแพทย์โดยตรง ขอดูห้องผ่าตัดว่าเครื่องไม้เครื่องมือสะอาดหรือไม่ อย่างน้อยห้องผ่าตัดควรจัดเป็นสัดส่วน มีประตูกั้นอย่างมิดชิด

ปฏิบัติตามคำแนะนำก่อนผ่าตัดอย่างเคร่งครัด

การปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัดเป็นสิ่งที่พึงกระทำ โดยเฉพาะการอดน้ำและอาหารก่อนผ่าตัดเป็นเวลา 12 ชั่วโมง หากไม่ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด น้ำหรือเศษอาหารที่อยู่ในกระเพาะอาจไหลย้อนกลับเข้าสู่ปอด เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ค่ะ ถ้าอดอาหารจากบ้านไม่ได้ แนะนำให้ไปฝากไว้ที่คลินิกค่ะ ควรอาบน้ำให้เขาก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพราะหลังจากผ่าตัดเสร็จแล้ว คงอาบน้ำไม่ได้อีกประมาณ 2 อาทิตย์เป็นอย่างน้อย (หอมแน่ๆ อิอิ)

ทำใจดีๆ ทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยง

ขณะที่พาเขาไปผ่าตัด ผู้เลี้ยงต้องทำจิตใจให้สงบ ไม่ตื่นเต้น ไม่แสดงอาการวิตกกังวลเกินเหตุ เพราะเจ้าเหมียวรับรู้ได้ ถ้าผู้เลี้ยงมีความวิตกกังวล จะพาลทำให้แมวตื่นเต้นไปด้วย และอาจส่งผลให้สัตวแพทย์เกิดความประหม่าไปด้วย

ให้ยาแก้ปวดหลังผ่าตัด

ปัญหาหลักที่ผู้เลี้ยงไม่อยากพาแมวไปทำหมัน เพราะกลัวแมวเจ็บ แต่ไม่ต้องห่วงนะคะ ปัจจุบันมียาแก้ปวดอย่างดีตัวใหม่สำหรับสัตว์เลี้ยง ชื่อ “ไรมาดิล” มีทั้งแบบฉีดและกิน ราคาไม่แพง หลังผ่าตัดเสร็จ อย่าลืมป้อนยาแก้ปวดให้เขาด้วยนะคะ หรืออาจเตือนคุณหมอให้ฉีดยาแก้ปวดก่อนผ่าตัดก็ได้ สิ่งสำคัญที่สุด!!! ห้ามใช้ยาแก้ปวดพาราเซตามอลเด็ดขาด เพราะแมวแพ้ยาประเภทนี้ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ห้ามป้อนอาหาร หรือน้ำทุกชนิดขณะสลบอยู่

หลังผ่าตัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากเขายังหมดสติ หรือยังไม่รู้สึกตัว งดป้อนอาหารและน้ำโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เขาสำลักถึงตายได้ อดใจรอให้เขาฟื้นตัว มีสติกลับมาครบสมบูรณ์ก่อนดีกว่าค่ะ

เฝ้าไข้อย่างใกล้ชิด

ผู้เลี้ยงต้องปฏิบัติตัวประดุจพยาบาลเฝ้าไข้ คอยดูเขาหลังผ่าตัดอย่างใกล้ชิด ภายใน 24 ชั่วโมง หากพบอาการผิดปกติ น่าเป็นห่วง เช่น อาเจียน เบื่ออาหาร แผลมีเลือดออก หรือบวมผิดปกติ ให้รีบนำไปพบสัตวแพทย์โดยด่วนค่ะ

ป้องกันการเลีย หรือแทะแผล

ปัจจุบัน มีอุปกรณ์ป้องกันการเลียแผลผ่าตัดจำหน่ายแพร่หลาย ราคาประมาณ 100 กว่าบาท เรียกว่า เอลิซาเบท (Elizabeth Collar) หรือที่เราคุ้นหูกันดีในชื่อ ปลอกคอกันเลีย ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เขาแทะ หรือเลียแผลตัวเองได้ เพียงแต่ในช่วงแรกอาจสร้างความรำคาญให้เขา หลังจากนั้นประมาณ 2 วัน จะชินไปเองค่ะ หรือจะตัดเสื้อให้เขาใส่ ป้องกันพฤติกรรมดังกล่าวได้เช่นกัน

เก็บตัวหลังผ่าตัด

งดออกนอกบ้านจนกว่าจะตัดไหม (ประมาณ 7-10 วัน) โดยเฉพาะเพศเมียที่ทำหมันตอนเป็นสัด ซึ่งไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ ส่วนตัวผู้ก็ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะถุงอัณฑะอาจบวมหลังผ่าตัด ถึงแม้จะไม่ได้ผ่าตัดหน้าท้องแบบตัวเมียก็ตาม

ตัดไหมตามนัด

มาถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้วค่ะ พาเขาไปตัดไหมให้ตรงเวลาตามที่หมอนัด เพื่อตรวจความเรียบร้อยของบาดแผล และสุขภาพ เรียกว่าตรวจเช็กครั้งสุดท้ายก่อนปล่อยตัวตามปกติค่ะ

3.เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี

น้องเหมียวต้องได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีเหมือนกับมนุษย์นะคะ ถึงแม้ว่าให้เขากินอาหารครบตามหลักโภชนาการ ดูแลเป็นอย่างดี พาออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไร ว่าเขาไม่มีโรคร้ายแฝงอยู่ ซึ่งอาจรอวันเล่นงานเมื่อภูมิคุ้มกันลดลงก็เป็นได้ ถ้าไม่อยากเสียใจภายหลัง แนะนำให้พาไปตรวจสุขภาพประจำปีนะคะ

4.เลือกอาหารที่มีประโยชน์

การเลือกอาหารก็เป็นอีกประเด็นสำคัญค่ะ ปัจจุบันมีอาหารสำเร็จรูปหลากหลายสูตรให้ผู้เลี้ยงได้เลือกสรร โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ อาหารเม็ดและ อาหารเปียก ซึ่งทั้งสองชนิดนี้ก็มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมกับเขาในแต่ละช่วงวัย และยังช่วยให้ผู้เลี้ยงเกิดความสะดวกสบายเมื่อให้อาหารด้วย เพียงฉีกซองแล้วเทใส่ชามก็เป็นอันเรียบร้อย แต่ก็ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายมากขึ้นเช่นกันค่ะ ทาง Petcitiz ขอแนะนำว่า ให้อาหารสำเร็จรูปควบคู่กับอาหารปรุงเองค่ะ ได้รับสารอาหารครบถ้วนไม่ต่างกัน อีกทั้งยังป้องกันอาการเบื่ออาหาร และลดค่าใช้จ่ายของเราลงได้อีกด้วย

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ไม่ใช่เรื่องยากเลยใช่ไหมที่จะดูแลสุขภาพของเจ้า แมว เหมียวที่เรารักให้มีสุขภาพดี ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญสำหรับเขามากนะคะ เพราะเขาไม่สามารถบอกเราได้ว่าเขาเจ็บป่วยตรงไหน เมื่อเรารับเขามาเลี้ยงแล้ว ก็ต้องดูแลเขาให้ดีที่สุดค่ะ ขอให้แฮปปี้กับการเป็นทาสแมวค่ะ ^^

เรียบเรียงโดย : น้องแมวสีเทา "น้องแมวสีเทาชื่นชอบในการเลี้ยงดูแลแมวและรักความเป็นแมวอย่างสุดหัวใจ มีประสบการณ์ในการเลี้ยงสัตว์มามากกว่า 10 ปี ชอบค้นหาข้อมูลและเทคนิคการเลี้ยงสัตว์ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาแบ่งปันกับเพื่อนๆต่อไป"