ทำความรู้จัก โรค ลูคีเมีย แมว
ถ้าพูดถึงการเจ็บป่วยของแมวแล้วนั้น เหล่าคนเลี้ยงแมวอย่างเราๆ ก็คงไม่มีใครอยากให้เจ้าเหมียวของเราเป็นอะไรอย่างแน่นอน และในตอนนี้โรคที่มักพบบ่อยในเจ้าเหมียว ก็คือ โรค ลูคีเมีย แมว สาเหตุของโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส Feline Leukemia Virus (FeLV) ทำให้เกิดมะเร็งที่เม็ดเลือดขาวและเนื้องอกตามอวัยวะต่างๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง โดยเชื้อไวรัสนี้จะไปทำให้ภูมิคุ้มกันของแมวลดลง จึงทำให้เกิดการติดโรคจากเชื้อแบคทีเรีย เช่นโรคปากอักเสบเรื้อรัง แผลเรื้อรัง โดยเชื้อไวรัสนี้สามารถติดต่อกันได้ด้วยการสัมผัสโดยตรงกับน้ำลาย น้ำปัสสาวะ และ อุจจาระของแมวตัวที่ป่วยไปสู่แมวปกติ หรืออาจติดกันได้ทางแมลง เช่น เห็บ หมัด เหา ไร ยุง แต่เราจะรู้ได้อย่างไรหล่ะว่า เจ้าเหมียวของเรานั้นมีเชื้อไวรัสนี้อยู่ในร่างกายแล้วจะ มีวิธีป้องกันอย่างไรให้เจ้าเหมียวไม่เป็นโรคลูคีเมีย วันนี้เราจะมีคำแนะนำและการดูแลเจ้าเหมียวมาให้ ทุกคนได้ลองทำความเข้าใจกับโรคนี้กันค่ะ
อาการของโรค
ในระยะแรกที่เราสังเกตได้เลยคือเจ้าเหมียวจะมีอาการเซื่องซึม หลังจากนั้นจึงมีอาการอื่นๆตามมา โดยขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของเจ้าเหมียวที่เราเลี้ยงถ้าร่างกายแข็งแรงอาการก็จะแสดงออกไม่มาก แต่ถ้าเจ้าเหมียวบ้านไหน ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงก็จะแสดงอาการตามลักษณะดังต่อไปนี้
ลักษณะของอาการนั้นแบ่งเป็น 3 ทาง หลักๆ คือ
1. ทางช่องอก เจ้าเหมียวที่ป่วยจะแสดงอาการหายใจติดขัด ไอและสำลัก เนื่องจากต่อมน้ำเหลืองในช่องอกบวมโตขยายใหญ่ไปเบียดและบีบหลอดลม หลอดอาหาร และมีของเหลวคั่งอยู่ในช่องอกนั่นเอง
2. ทางช่องท้อง เจ้าเหมียว จะเบื่ออาหาร ร่างกายจะซูบผอมลง อาเจียน ท้องร่วงหรือท้องผูก ระบบไหลเวียนของเลือดก็จะถูกทำลายทางระบบต่อมน้ำเหลือง เพราะเซลล์มะเร็งได้กระจายไปสู่ร่างกายทั้งหมด เช่น ลำไส้ ปอด ตับ และม้าม ระบบสืบพันธ์ที่พบว่าแม่แมวติดเชื้อไวรัส คือเกิดการแท้งลูกในคอกแรกที่ตั้งท้อง
3. ทางระบบต่อมน้ำเหลืองต่างๆ จะกระจายไปในส่วนจุดของต่อมน้ำเหลืองต่างๆ เช่น ตามขาหนีบ โคนขาทั้งสี่ หรืออาจเห็นได้ชัดตามลำตัวของแมวที่ขยายตัวเป็นก้อนนูนแข็ง รวมไปถึง อาการที่ส่งผลไปยังจอประสาทตา สมอง หรืออาจไม่แสดงอาการเลยก็ยังมี ระบบประสาทผิดปกติด มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เดินเซ อาจเป็นอัมพฤกษ์ ตาบอดเฉียบพลันภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องแล้วทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
วิธีป้องกัน
1. ไม่ให้ออกนอกบ้าน ควรป้องกันเจ้าเหมียวไม่ให้ออกนอกบ้าน เราจะลดความเสี่ยงที่เจ้าเหมียวอาจติดเชื้อ โรคลูคีเมียนี้จากตัวเมียข้างนอกบ้านได้ แต่ก็ไม่ควรปิดกั้นจนเกินไปอาจทำให้เจ้าเหมียวเกิดอาการเครียดเพราะโดยปกติแล้วนั้นสัญชาตญาณทั่วไปของเจ้าเหมียวนั้นรักอสิระ พาออกไปเดินข้างนอกบ้างแต่ไม่ควรให้ไปเล่นกับแมวนอกบ้าน
2. ทำหมัน เพื่อลดพฤติกรรมก้าวร้าว ที่แนะนำให้ทำหมันก็เพื่อป้องกันการติดต่ออีกช่องทางหนึ่งเพราะในช่วงที่เจ้าเหมียวกำลังติดสัตว์นั้น จะมีอารมณ์ฉุนเฉียวเป็นพิเศษ อาจเกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างแมวๆด้วยกันได้หรือเรียกง่ายๆคือลดปัญหาการกัดกันของเจ้าเหมียวของเรากับแมวจรที่กำลังมีภาวะเสี่ยงต่อโรคนี้อยู่
3. จับแยกลดความเสี่ยง หากเลี้ยงแมวรวมกันหลายตัว แล้วตรวจพบว่าหนึ่งในที่เลี้ยงติดเชื้อ FeLV ควรจับตัวที่ติดเชื้อนั้นแยกกรงออกมา รวมทั้งแยกชามอาหาร น้ำ กระบะทราย ของเล่น และเบาะรองนอนอีกด้วย เพื่อลดทอนการเกิดภาวะเสี่ยงในแมวที่เหลืออยู่ของผู้เลี้ยง แต่เราก็ไม่ควรละเลยเจ้าเหมียวที่ถูกจับแยกมาด้วย
4. ทำวัคซีนป้องกันโรค การทำวัคซีนนั้นสามารถทำได้ในเจ้าเหมียวที่อายุตั้งแต่ 2 เดือนครึ่งขึ้นไปแนะนำว่าก่อนทำวัคซีนถ้าเป็นไปได้ควรทำตรวจในชุดตรวจสำเร็จรูปเพราะการตรวจแบบนี้จะครอบคลุมทุกอย่าง เผื่อว่าตรวจเจอไวรัส FeLV เราจะได้ทำการรักษาหรือทำการป้องกันได้ทันท่วงที แต่ถ้าผลตรวจออกมาเป็นบวก ควรเว้นระยะในการตรวจไปอีก 3 – 6 เดือน แล้วผลยังออกมาเป็นบวกอีก ก็เป็นอันว่าลูกแมวได้ติดเชื้อไปแล้วจึงไม่แนะนำ ให้ไปทำวัคซีน เพราะถึงทำไปก็ไม่เกิดผลเท่าไหร่นัก
โรคลูคีเมียในแมวนั้น เกิดจากเชื้อ FeLV ถ้าในระยะเริ่มแรกที่เราสังเกตได้ในอาการข้างต้น ควรนำมารักษา หรือทำการป้องกันอย่างถูกต้อง แต่สำหรับแมวที่นำไปตรวจแล้วยังไม่มีมีภาวะเสี่ยงติดเชื้อได้นั้นก็ควรนำไปคลินิก หรือ
รพ.สัตว์ ที่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ เมื่อเราทราบถึงสาเหตุและอาการ ของการติดเชื้อในแมวแล้วนั้น หากเป็นในแมวตัวผู้ควรทำหมันเพื่อลดการขยายพันธ์ หรือ ในแมวตัวเมียที่มีความเสี่ยงเราควรจับแยกทันทีเมื่อเราเห็นอาการ เพราะไม่อย่างนั้นเราจะควบคุมการแพร่กระจาย ของเชื้อโรคนี้ได้ยากแล้วยังเป็นอันตรายต่อแมวตัวอื่นที่ยังไม่มีอาการติดเชื้ออีกด้วย นะคะ