เทคนิคการทำความสะอาด สุนัข
- เทคนิคการทำความสะอาด สุนัข ที่ถูกต้องตามหลักการดูแลมาฝากเพื่อนๆ ค่ะ ด้วยความรักและห่วงใยทั้งผู้เลี้ยง และสุนัข บทความที่ Petcitiz เลือกมาให้ความรู้นั้น จะช่วยเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีให้สุนัขด้วยค่ะ
การทำความสะอาดหรืออาบน้ำให้ สุนัข นั้น ไม่มีอะไรที่ยากเลย ถ้าคุณรู้หลักและเทคนิคง่ายๆ ที่ทำให้ทั้งผู้เลี้ยง และสุนัขมีความสุขไปด้วย ถ้าสุนัขแสนดื้อของคุณให้ความร่วมมือด้วยดี นอกจากจะสร้างสุขอนามัยที่ดี ถูกต้องตามหลักแล้ว จะทำความสะอาดกี่ครั้ง หรือจะอาบน้ำกี่หน สุนัขก็ยอมแต่โดยดี ส่วนจะมีเทคนิคอะไรบ้าง ลองอ่านบทความนี้ดูนะคะ
เทคนิคที่ 1 การอาบน้ำที่ถูกวิธี
- ใช้น้ำอุณหภูมิที่เหมาะสม สุนัขมีความรู้สึกไวต่ออากาศ จะร้อนจะหนาวก็เหมือนกับที่เรารู้สึกค่ะ เพราะฉะนั้นเลือกอาบน้ำอุ่นให้สุนัข ส่วนน้ำเย็นอาจทำให้หนาวสั่นได้ และอันตรายสำหรับลูกสุนัข หากคุณอาบน้ำให้ในอ่างล้างหน้า หรืออ่างอาบน้ำ ควรเติมน้ำอุ่นสูงประมาณเข่าสุนัขก็พอนะคะ
- ทำให้ตัวเปียกน้ำ อย่าราดน้ำลงบนหัวสุนัข หรือบริเวณใบหน้า เพราะจะทำให้น้ำเข้าหู หรือระคายเคืองดวงตา วิธีที่ถูกต้อง คือ ชโลมน้ำให้เปียกชุ่มตั้งแต่คอลงไปก่อน อาจต้องใช้เวลาสักพัก สำหรับสุนัขที่มีขนหนาเป็นพิเศษ
- การชโลมแชมพู สำหรับสุนัขขนหนายาว ให้ผสมแชมพูกับน้ำในถ้วยใบเล็กเสียก่อน แล้วจึงนำไปชโลมลงบนตัว จะช่วยให้เกิดฟองที่ขนได้ทั่วถึง และนวดแชมพูไปตามทิศทางเดียวกัน จะช่วยป้องกันไม่ให้ขนยุ่งพันกัน สำหรับพันธุ์ขนสั้น เทแชมพูปริมาณเล็กน้อยลงบนตัว แล้วนวดแชมพูให้ทั่ว จนซึมซาบเข้าสู่ขน ฟอกให้เกิดฟองขึ้นมาตามรักแร้ หน้าท้อง หาง ขาหนีบ และฝ่าเท้า
- ฟอกแชมพูทิ้งไว้ตามที่ระบุบนขวด แชมพูบางชนิดมีสารกำจัดเห็บหมัดอ่อนๆ และอาจต้องฟอกทิ้งไว้สักพัก เพื่อให้ได้ผลดีต่อการกำจัดเห็บหมัดค่ะ
- การทำความสะอาดส่วนใบหน้า ให้ใช้ผ้าเช็ดตัวบิดน้ำหมาดๆ เช็ดฝุ่นผงออก ไม่ควรใช้ผ้าเปียกทำความสะอาดข้างในหู อาจทำให้อับชื้น และติดเชื้อได้
- ล้างตัว ให้สะอาดจนแน่ใจแล้วว่าไม่มีแชมพูตกค้างบนตัว เพราะการล้างแชมพูออกจากขนไม่หมด จะทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้ค่ะ
- เช็ดตัวให้แห้ง หาผ้าเช็ดตัวเนื้อเบาที่ซึมซับน้ำได้ดี วิธีการเช็ด ใช้ผ้าเช็ดตัวคลุมหลังเขาไว้ ค่อยๆ ซับให้แห้ง ไม่ควรถูขึ้นลง เพราะอาจทำให้ขนพันกันได้ ด้วยสัญชาตญาณของสุนัข จะสลัดตัวเองให้แห้ง อาจใช้ไดร์เป่าผมเข้าช่วยเพื่อให้ขนแห้ง ควรตั้งความร้อนระดับต่ำสุด หรือใช้ความเย็น ไม่หันช่องทางลมไปทางใบหน้าสุนัข เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวโดนความร้อน
หลังจากจบทุกขั้นตอนการอาบน้ำแล้ว ก็ควรให้รางวัล เช่น ขนม หรือของเล่นกับสักหน่อยนะคะ เพื่อเป็นการชื่นชมที่สุนัขให้ความร่วมมือ และให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อการอาบน้ำค่ะ
เทคนิคที่ 2 การแปรงฟัน
- ทำให้คุ้นเคยกับการมีมืออยู่ในปาก การแปรงฟันให้สุนัขเป็นครั้งแรก ควรเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป ใช้นิ้วของเราสัมผัสบริเวณช่องปากสุนัขบ่อยๆ เพื่อให้เขารู้สึกคุ้นชิน หรือจับปากเบาๆ อาจต้องใช้เวลาพอสมควรค่ะ
- ให้เขาเลียยาสีฟันจากนิ้วมือคุณ เริ่มการแปรงฟันด้วยการให้เขาเลียยาสีฟันปริมาณเล็กน้อยจากนิ้วของคุณ ช่วยให้เขาคุ้นเคยกับรสชาติ เมื่อสุนัขยอมเลียยาสีฟันแล้ว ให้ยกริมฝีปากเขาขึ้น ยอมให้เราสีฟัน ใช้นิ้วถูไปตามฟันและเหงือก ตามจังหวะแปรงสีฟันปกติ วิธีนี้จะช่วยให้เปลี่ยนไปใช้แปรงสีฟันได้ง่ายขึ้นค่ะ
- แปรงฟันเพียงบางส่วนก่อน แปรงฟันส่วนที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดก่อน จะใช้ยาสีฟัน หรือไม่ใช้ก็ได้ เริ่มจากค่อยๆ ยกริมฝีปากบนขึ้น วางแปรงสีฟันลงที่ฟัน จากนั้นแปรงไปข้างหน้า และถอยหลังช้าๆ
- แปรงฟันด้านนอก เมื่อสุนัขคุ้นเคยกับรสชาติยาสีฟัน และแปรงสีฟันแล้ว ให้บีบยาสีฟันเล็กน้อยบนแปรง เริ่มแปรง จากนั้นค่อยๆ แปรงไปตามพื้นที่ด้านนอกทั้งฟันบน และฟันล่างจนครบทุกซี่ ละครั้งประมาณ 2-3 นาที อาจต้องทำสัก 2-3 ครั้งเพื่อให้คุ้นชินค่ะ
- แปรงฟันด้านใน เมื่อสามารถแปรงฟันด้านนอกทั้งหมดได้แล้ว เปลี่ยนมาลองแปรงฟันด้านในเมื่อสุนัขอ้าปาก ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากแปรงบริเวณเล็กๆ บางส่วนก่อน ขยับไปแปรงพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น เมื่อสุนัขคุ้นเคยกับการแปรงฟัน
- ทำให้เป็นกิจวัตร ยิ่งแปรงฟันให้เขาบ่อยเท่าไร ก็จะยิ่งคุ้นเคยกับมือของคุณในช่องปาก หรือใกล้บริเวณปาก จะช่วยให้การแปรงฟันเป็นเรื่องง่ายขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ
เทคนิคที่ 3 การเช็ดหู
เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหูสูตรอ่อนโยน ค่า pH ระดับกลาง จะช่วยหล่อลื่น และบำรุงผิวบริเวณหูค่ะ แนะนำให้ใช้น้ำยาสำหรับเช็ดหูสุนัขโดยตรง เพราะน้ำยาสามารถแทรกซึมเข้าสู่รูหู เพื่อชะล้างสิ่งสกปรก เช่น หนอง หรือเชื้อโรคที่ตกค้าง โดยนำปากขวดจ่อไปที่รูหู บีบน้ำยาให้ทั่วสัก 3-5 หยด จากนั้นอุดหูไว้ด้วยสำลีก้อน นวดที่ขมับ เสร็จแล้วนำสำลีออก ใช้สำสีก้านเช็ดน้ำยาที่ไหลออกมาให้สะอาด ทำซ้ำจนกว่าน้ำยาที่ไหลออกมาจะเปลี่ยนเป็นสีใส ไร้สิ่งสกปรกค่ะ
เทคนิคที่ 4 การตัดเล็บ
- เลือกตัดจุดแรก ตรวจส่วนที่เป็นเนื้อนิ่มๆ (Quick) สีชมพูเริ่มจากตรงไหน ซึ่งจะซ่อนอยู่กลางเล็บ ห้ามตัดโดนเด็ดขาดนะคะ เพราะบริเวณนั้นมีทั้งเส้นประสาท และเส้นเลือด ถ้าเล็บใส สีขาว หรือสีอ่อน ก็จะเห็นเนื้อนิ่มๆ ง่าย แต่ถ้าเล็บดำ หรือสีเข้ม จะหายากเนื้อนิ่มสักหน่อย ต้องใช้วิธีอื่นแทน เช่น ค่อยๆ ตัดเล็มทีละนิด แต่ระวังนะคะ ถ้าตัดไปโดนเนื้อเข้าให้สุนัขจะกลัว และไม่ชอบการตัดเล็บไปเลย
- ถ้าเผลอตัดโดน Quick ให้รีบปลอบ แน่นอนว่าผู้เลี้ยงหลายคนต้องเคยตัดพลาดไปโดน Quick ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ให้รีบปลอบ และให้ขนมตามทันที เพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจค่ะ
เทคนิคที่ 5 การทำความสะอาดรอบดวงตา
สุนัขบางตัวมีอาการน้ำตาไหล ( Epiphora ) ลักษณะน้ำตาเอ่อล้น เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในสายพันธุ์ที่มีกะโหลกศีรษะขนาดใหญ่แบน เช่น เทอร์เรีย และชิวาวา ผู้เลี้ยงต้องล้างคราบน้ำตาที่สะสมมากนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการระคายเคือง หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ สุนัขพันธุ์พุดเดิล และชิสุ มักมีอาการขนตางอกผิดตำแหน่ง ( Distichiasis ) ลักษณะขนตางอกเข้าข้างใน แทนที่จะงอกออกด้านนอก ทำให้เกิดการระคายเคือง และมีน้ำตาไหลออกมา
โดยทั่วไปมีคำแนะนำให้ใช้ ซิลเวอร์คอลลอยด์ (Colloidal silver) ทำความสะอาด เพราะปลอดภัยต่อบริเวณรอบดวงตา มีทั้งรูปแบบสเปรย์ และน้ำยาหยอดตา ให้ชโลมน้ำยาลงบนก้อนสำลีสะอาด แล้วเช็ดบริเวณรอบดวงตา หรือใช้น้ำมันมะพร้าวปริมาณเล็กน้อย ป้ายบริเวณใต้ดวงตาที่มี “รอย” คราบน้ำตา เพื่อปกป้องผิวจากอาการระคายเคือง
ข้อควรรู้เพิ่มเติม : ห้ามใช้ไฮโดรเจนปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) น้ำส้มสายชูที่ทำจากน้ำแอปเปิล ผลิตภัณฑ์เช็ดล้างเครื่องสำอาง และยาหยอดตาสำหรับคน เช็ดทำความสะอาดดวงตาสุนัขเด็ดขาด เพราะผิวของเขาบอบบางกว่าเราค่ะ
สำหรับอุปกรณ์ทำความสะอาดก็หาสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาเช็ดคราบน้ำตา หรือแม้แต่กระดาษทิชชู่เปียก เพียงแต่ต้องแน่ใจว่าผลิตภัณฑ์นั้นติดเครื่องหมายว่า ใช้แล้วไม่แพ้ ( Hypoallergenic ) และไม่ได้มีส่วนผสมของสารไทโลซิน ตาร์เตรต (Tylosin tartrate) เพราะยาปฏิชีวนะนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้กับสุนัข หรือแมวค่ะ
และนี่ก็เป็นเทคนิคการทำความสะอาด สุนัข ที่เราได้รวบรวมมาให้เพื่อนๆ ศึกษากันค่ะ หวังว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้เลี้ยงและสุนัขแสนรักของคุณนะคะ เมื่อรู้เทคนิคดีๆ เหล่านี้จากเราแล้ว อย่าลืมนำไปลองปรับใช้กันดูนะคะ
นามปากกา น้องแมวสีเทา
น้องแมวสีเทาชื่นชอบในการเลี้ยงดูแลแมวและรักความเป็นแมวอย่างสุดหัวใจ มีประสบการณ์ในการเลี้ยงสัตว์มามากกว่า 10 ปี ชอบค้นหาข้อมูลและเทคนิคการเลี้ยงสัตว์ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาแบ่งปันกับเพื่อนๆ ต่อไป