อยากรู้ไหม สุนัขกำลังคิดอะไรอยู่?

64965

สุนัข คิดอะไรอยู่

  • หา.. อะไร มักเป็นคำถามที่หลายคนคงสงสัย เพราะพวกเขาไม่สามารถสื่อสารกับเราได้ ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือภาษาของมนุษย์ ฉะนั้น หากผู้เลี้ยงต้องการรู้ว่าสุนัขที่เลี้ยงรู้สึกอย่างไร คิดอะไร คงต้องใช้วิธีการสังเกต การเรียนรู้ภาษาเพิ่มเติม และพฤติกรรม เพราะจะเป็นทางเดียวที่ทำให้เราจะเข้าใจสุนัขมากขึ้น

การสื่อสาร ถือว่าสำคัญต่อจิตใจสุนัขโดยตรง ถ้าเราเข้าใจหรือแปลลักษณะท่าทางของสุนัขผิดพลาด ทำให้สุนัขการตอบสนองที่ผิดพลาดกลับด้วยมาเช่นกัน  ส่งผลให้พฤติกรรมน่ารัก เปลี่ยนเป็นความก้าวร้าวไปเลยก็ได้ วันนี้ Petcitiz ก็เลยนำบทความดีๆ ว่าสุนัข คิดอะไรอยู่ มาฝากค่ะ ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้ว่าแท้จริงแล้วพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกมานั้นบ่งบอกอะไรเราบ้าง

1.แสดงความเป็นใหญ่ มีพละกำลังเหนือคู่ต่อสู้

เมื่อ สุนัข ยืนตัวตรง คอตั้ง ขาเหยียดตรง หางและหูตั้งขึ้น ขนรอบคอชูชัน และเป็นแนวยาวตลอดสันหลัง แกว่งหางไปมาอย่างช้าๆ พร้อมขู่คำราม เป็นการแสดงความเป็นใหญ่ และมีพละกำลังเหนือกว่าคู่ต่อสู้ เหมือนกำลังสั่งสอน หรือดุสุนัขตัวเล็ก ในทางกลับกันถ้าอีกตัวกำลังยอมแพ้ จะแสดงท่าทางนอนหงายท้อง หูลู่ ไม่สู้ พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ได้คิดทำร้ายสุนัขตัวเล็กนะคะ

2.แสดงการยอมแพ้

สุนัขที่ยอมแพ้ หรือให้การยอมรับว่าอีกฝ่ายแข็งแกร่งกว่า (ไม่ว่าจะเป็นสุนัขหรือมนุษย์) จะแสดงอาการยำเกรงด้วยการเข้าหาฝ่ายตรงข้ามทางด้านข้าง หมอบคลาน หางตกแกว่งไปมา เลียมือเลียเลียเท้า หรือเลียหน้าของอีกฝ่ายที่เหนือกว่า แต่หากตัวที่อ่อนแอกว่ารู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวยังไม่มากพอ มีพฤติกรรมอีกอย่าง คือ กลิ้งหงายท้อง หรือบางตัวอาจฉี่ออกมาด้วย

3.แสดงความดีใจหรือเป็นมิตร

สุนัขจะกะดิกหาง หรือแกว่งหางอย่างแรงจนก้นสะบัด เป็นการแสดงอาการยินดี ความเป็นมิตร และลูกฝูงก็จะทำท่าทางดีใจเช่นนี้เหมือนกันต่อฝูงค่ะ

4.แสดงอาการโกรธ

หลายหนสุนัขมักจะแสดงอารมณ์โกรธ เราเองก็มักตั้งคำถามว่าเขากำลัง คิดอะไรอยู่ จะแยกเขี้ยว ขู่คำราม โบกหางอย่างช้าๆ เกร็งๆ อยู่ในระดับเดียวกับหลังของตนเอง

5.แสดงอาการกลัว

อาการกลัว มีความกังวลใจ หรือกลุ้มใจ หางจะห้อยตกอยู่ระหว่างก้น หรือแกว่งอย่างเกร็งๆ ตกอยู่ระหว่างก้นค่ะ

6.ทำหูตั้ง

สุนัขที่ทำหูตั้ง ตัวตรง แสดงว่ากำลังเตรียมพร้อมที่จะทำอะไรบางอย่าง หรือกำลังฟังเสียงอย่างตั้งอกตั้งใจ เพื่อเฝ้าระวังตลอดเวลาค่ะ

7.ทำหูลู่หรือตก

สุนัขที่ทำหูลู่ หรือหูตกไปข้างหลังเสมอกับแนวศีรษะมักเป็นสิ่งที่เรามองว่าน่ารักน่าชังซะเหลือเกิน แต่เอาเข้าจริงๆ เราไม่รู้เลยว่าเขากำลังแอบอารมณ์บางอย่าง ดั้งนั้นไม่ว่าเขาจะ คิดอะไรอยู่ ก็ตาม นั่นเป็นการบ่งบอกว่าเขากำลังดีใจ ยอมแพ้ หรือกลัวก็เป็นไปได้หมด ต้องดูสถานการณ์ขณะนั้นเพิ่มเติม จึงจะรู้ว่าสุนัขรู้สึกอย่างไร

คิดอะไรอยู่

8.ทำตาหรี่

ถ้าสุนัขทำตาหรี่ ความหมายที่หนึ่ง คือ กำลังมีความสุข จะสังเกตเห็นว่ามันยิ้มด้วย เชื่อว่าเพื่อนๆ ที่เลี้ยงน้องหมาคงจะเคยเห็นกันมาบ้าง และความหมายที่สอง คือ กำลังยอมแพ้นั่นเองค่ะ

9.ทำตาเบิกกว้าง และลุกโพลง

ถ้าสุนัขทำลักษณะท่าทางเช่นนี้ หมายความว่า เป็นอาการก้าวร้าว หรือเริ่มโมโห เปรียบเสมือนหัวหน้าฝูงสัตว์ป่า จะแสดงอาการเช่นนี้เพื่อควบคุม และดูแลบรรดาลูกฝูงที่ไม่เชื่อฟังโดยการจ้องตากันทั้ง 2 ฝ่าย หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าท้าทาย หรือก้มหัวยอมแพ้ จะต้องหันตัวกลับออกไป อย่างไรก็ดี สุนัขอาจจะรู้สึกสับสน และแว้งกัดเพื่อเอาชนะความกลัวก็ได้ หากการทำสงครามทางสายตานี้ไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ตัวที่เหนือกว่าก็จะเข้าคุกคาม สั่งสอนอีกตัวด้วยการแยกเขี้ยว ขู่คำราม หรือตรงเข้ากัดทันที

10.การจ้องตาสุนัข

การจ้องตาระหว่างสุนัขด้วยกันเอง หรือจ้องตากับคน มีความหมาย 2 อย่าง คือ แสดงความรัก ความอบอุ่นต่อกัน และท้าทายเพื่อการต่อสู้ ที่สำคัญคุณไม่ควรจ้องตาในขณะที่สุนัขกำลังหงุดหงิด หรือโมโห เพราะจะเป็นการยั่วยุให้สุนัขตรงเข้าทำร้ายคุณ

สายพันธุ์ที่ว่านอนสอนง่ายอย่าง โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ เราจะเห็นว่าสุนัขพันธุ์เหล่านี้ยิ้มตลอดเวลา เมื่อเขาอ้าปากเราจะเห็นฟันใต้กระพุ้งปากยานๆ เผยอๆ ดูเป็นมิตรดี แต่เวลาโมโห ปากของ ลาบราดอร์จะหุบเข้า จะได้ยินเสียงขู่ตามมา สำหรับสุนัขที่อยากเล่นกับคุณ จะแสดงพฤติกรรมด้วยการเหยียดอุ้งเท้าออกมา หรือเห่าเพื่อดึงดูดความสนใจ ส่วนท่าทางอื่นๆ ที่สามารถสังเกตได้ เช่น ชวนคุณเล่นของเล่น หรือไล่งับเพื่อนๆ สุนัขด้วยกัน เพื่อชวนให้เล่นวิ่งไล่กันค่ะ

11.เราต้องเป็นเจ้านาย

สุนัขจะเริ่มเป็นตัวของตัวเอง ไม่ฟังคำสั่งที่เราเคยสอนให้ปฏิบัติตาม เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาวประมาณ 6 เดือน เช่น นั่ง หมอบ ฯลฯ ถ้าคุณตามใจ จนรู้สึกว่าแข็งแรง และมีพละกำลังมากกว่า สุนัขจะคิดว่า สามารถขึ้นเป็นผู้นำแทนคุณได้หรือไม่ ดังนั้น หากเขาแสดงความเป็นใหญ่เหมือนตนเองเป็นจ่าฝูง คุณต้องคอยสอน และฝึกฝนวินัย ทำให้สุนัขรู้ว่า สถานะอยู่ตรงไหน แม้ว่าจะโตเต็มวัยแล้วก็ตาม คุณยังต้องฝึกวินัยให้กับเขาเป็นระยะๆ อย่าลืมว่าการชมเชยสุนัขด้วยนะคะ

นอกจากนี้ หากพบว่าลูกสุนัขแสดงอาการหวงกระดูก ของเล่น หรือของกินกับคุณ ให้รีบจัดการแก้ไขทันที อย่าปล่อยให้เขาทำจนติดเป็นนิสัย เพราะพฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลเสียเมื่อเขาเติบโตขึ้นเต็มวัย คุณจะควบคุมพฤติกรรมของสุนัขไม่ได้ ส่วนวิธีแก้ไข ให้ดึงชามข้าวออกมาบ้าง ขณะเขากำลังกิน หากเขาแสดงอาการขู่คำราม แยกเขี้ยว หรือจะกัด ให้ใช้วิธีเตือน เช่น พูดว่า “ไม่” หรือ “อย่า” ทำหน้าดุใส่ เพื่อเป็นการกำราบให้สุนัขไม่แสดงอาการหวงของอีก

12.การเปลี่ยนพฤติกรรมก้าวร้าว

ถ้าลูกสุนัขแสดงความก้าวร้าว เช่น หวงอาหาร หวงของเล่น ขู่เวลาจับอาบน้ำ วิธีสอนก็คือ จับเขานอนตะแคงราบไปกับพื้น แล้วใช้มือกดคอไว้ ให้คุณกดไว้อย่างนี้ จนกระทั่งสุนัขยอมจำนน และคลายอารมณ์ลงคุณจึงปล่อยมือ (ทำอย่างนี้หลายนาทีโดยเฉพาะครั้งแรก) ที่สำคัญให้เรียกชื่อสุนัขเบาๆ ระหว่างที่คุณกดคอเขาด้วยนะคะ

หากอยากรู้ว่าเขากำลัง คิดอะไรอยู่ วิธีง่ายๆ เลยคือวิธีกำราบนี้ใช้ได้เฉพาะเวลาที่ลูกสุนัขของคุณประพฤติตัวไม่ควรเท่านั้น เช่น เมื่อสุนัขแยกเขี้ยว ยิงฟันใส่ เวลาที่คุณแต่งตัวให้เขา ให้กดคอเบาๆ หากคุณเห็นว่าเขายอมแล้ว ก็อย่าลืมปล่อยมือออกจากคอเขานะคะ แม้ว่าเขาจะดิ้นตัวหนีอย่างสุดกำลังก็ตาม คุณควรเริ่มทำทันทีตั้งแต่วันแรกที่รับเขามาเลี้ยง เพื่อให้เขาเกิดความคุ้นเคย กลายเป็นลูกสุนัขตัวเล็กๆ ที่น่ารัก และเติบโตเป็นสุนัขที่มีเสน่ห์ นิสัยดี เชื่อฟังคำสั่ง

13.วิธีแสดงออกว่าเราเหนือกว่า

ให้เราบีบปากสุนัขอย่างระมัดระวัง แล้วปล่อยมือ เป็นอีกวิธีหนึ่งในการแสดงออกถึงความเหนือกว่า ในฐานะหัวหน้าฝูงได้เป็นอย่างดี ทุกคนในครอบครัวควรเข้าใจตรงกันว่า สุนัขอยู่ในสถานะน้องเล็กที่สุดของบ้าน และควรปฏิบัติกับสุนัขเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้แสดงความเหิมเกริม หรืออยากเป็นใหญ่ อีกทั้งไม่ควรอนุญาตให้เขาขึ้นนั่งบนโซฟา หรือนอนบนเตียงเด็ดขาด

ส่วนการที่เขาเห็นว่าขาใครต่อใครในครอบครัวเปรียบเสมือนสุนัขเพศเมีย คือ การแสดงความมีอำนาจเหนือกว่า  แม้แต่ในเพศเมียก็สามารถแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ได้ ดังนั้น อย่าปล่อยให้เขาทำพฤติกรรมแบบนี้กับคนในบ้าน หากพบเห็นให้พูดเสียงแข็งกับเขาว่า ไม่! หากยังเกิดพฤติกรรมแบบนี้ขึ้นอีก จับสุนัขนอนตะแคง แล้วกดคอเอาไว้

เมื่อสุนัขอายุได้ 1-2 ปี อาจมีปัญหาทางด้านพฤติกรรมที่ยากเกินกว่าจะแก้ไขได้ หากคุณเริ่มฝึกฝนเขาอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ยังเล็กๆ ดังนั้น สิ่งที่คุณควรกระทำต่อเจ้าตูบของคุณก็คือ การเอาใจใส่ ให้ความรัก และชมเชยเขาอย่างสม่ำเสมอ

อย่าลืมนะคะว่าไม่ใช่เพียงแค่ สุนัข เท่านั้นที่ต้องฝึกและเรียนรู้ ตัวผู้เลี้ยงเองก็ต้องเรียนรู้ด้วยเช่นกันว่าควรฝึกฝนอย่างไร สื่อสารความต้องการกันอย่างไร ให้เขารับรู้สถานะของตนเองภายในบ้าน ปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อการอยู่ร่วมกันทั้งสองฝ่ายค่ะ

 

นามปากกา น้องแมวสีเทา

น้องแมวสีเทาชื่นชอบในการเลี้ยงดูแลแมวและรักความเป็นแมวอย่างสุดหัวใจ มีประสบการณ์ในการเลี้ยงสัตว์มามากกว่า 10 ปี ชอบค้นหาข้อมูลและเทคนิคการเลี้ยงสัตว์ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาแบ่งปันกับเพื่อนๆต่อไป