โรคหัดแมว ภัยอันตรายที่ผู้เลี้ยงคาดไม่ถึง!

178801
โรคหัด แมว

อันตรายของ โรคหัด แมว

• โรคหัด แมว เกิดจากการติดเชื้อในลำไส้ของน้องแมวจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ท้องเสีย ฯลฯ หากรักษาช้า แมวอาจเสียชีวิตได้
• วิธีการป้องกัน สามารถฉีดวัคซีนป้องกันให้กับน้องแมวได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ ขึ้นไป หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสแมวป่วยจากที่อื่น เป็นต้น


โรคหัดแมว หรือ โรคลำไส้อักเสบติดต่อในแมว เป็นโรคติดเชื้อในทางเดินอาหารของแมว สามารถพบได้ทุกช่วงอายุโดยเฉพาะในแมวเด็ก และแมวที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ในกรณีที่มีอาการรุนแรง สามารถทำให้น้องเหมียวของคุณเสียชีวิตได้ ถือเป็นมหันตภัยร้ายที่คนเลี้ยงแมวไม่ควรมองข้ามเลยนะคะ วันนี้ Prtcitiz จึงนำข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้มาฝาก เพื่อให้เพื่อนๆ ได้รู้จักกันมากขึ้น จะมีอาการและวิธีป้องกันอย่างไร ตามไปดูเลยค่ะ

โรค หัดแมว

อาการไข้หัดแมว

โรคนี้มีระยะการฟักตัวของโรค 2-7 วัน โดยแมวอายุน้อยส่วนใหญ่ตายอย่างรวดเร็ว อัตราการตายอยู่ระหว่าง 25-90% จะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย ร่างกายขาดน้ำ ถ่ายเป็นเลือด เบื่ออาหาร และร่างกายอ่อนเพลียอย่างหนัก เป็นโรคที่มีอัตราการตายสูง โดยเฉพาะในกลุ่มแมวที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อตรวจเลือดจะพบว่าเม็ดเลือดขาวต่ำมาก จึงมีชื่อเรียกโรคนี้ว่า “Feline Panleukopenia” เมื่อคลำบริเวณช่องท้องจะรู้สึกเจ็บ บางครั้งพบเป็นลำของลำไส้หนาตัว ภายในมีแก๊สและของเหลว หากแมวติดเชื้อไข้หัดแมวในขณะตั้งท้องก็อาจทำให้แท้ง ลูกตายหลังคลอด หรือทำให้ลูกพิการทางสมองได้

สาเหตุ

เกิดจากการติดต่อโดยตรงจากแมวป่วย โดยเฉพาะทางอุจจาระ ภาชนะใส่อาหาร น้ำ กรง ที่ขับถ่ายของแมว หรือพื้นดินที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อไวรัส รวมถึงเสื้อผ้า และรองเท้า การแพร่โรคนี้จะเกิดได้ง่ายขึ้นหากเลี้ยงน้องแมวรวมกันหลายตัว

โรค หัดแมว

วิธีป้องกันโรค

1.สามารถฉีดวัคซีนให้กับน้องแมวได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ ขึ้นไป

2.ฉีดซ้ำทุก 2-3 สัปดาห์ จนกว่าน้องแมวจะอายุครบ 16 สัปดาห์ ขึ้นไป และทำการกระตุ้นวัคซีนทุก 1-3 ปี (แล้วแต่ความรุนแรงในการระบาดของโรคในพื้นที่นั้นๆ)

3.ผู้เลี้ยงไม่ควรสัมผัสแมวป่วยนอกบ้าน หากสัมผัสมาก็ควรล้างมือให้สะอาดก่อนจะจับแมวของตัวเอง

4.ไม่ควรปล่อยน้องแมวออกนอกบ้าน เพื่อลดการติดเชื้อจากแมวนอกบ้านซึ่งอาจเป็นพาหะของโรค

5.ถ้ามีสมาชิกน้องเหมียวตัวใหม่เข้าบ้าน ควรแยกเลี้ยงอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อสังเกตอาการว่ามีโรคไข้หัดแมวติดมาด้วยหรือเปล่า

โรค หัดแมว

วิธีการรักษา

ในปัจจุบันมีการให้ยาในกลุ่ม Interferon แบบฉีดในปริมาณสูงเพื่อต่อต้านเชื้อไวรัสร่วมกับการรักษาตามอาการ ซึ่งพบว่าหากฉีด Interferon ในแมวที่แสดงอาการป่วยไปแล้ว จะเพิ่มอัตรารอดได้ประมาณ 10-20% เมื่อเทียบกับการรักษาตามอาการแบบเดิมเพียงอย่างเดียว และพบว่าถ้าเริ่มฉีด Interferon ในน้องแมวที่ได้รับเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ จะช่วยเพิ่มอัตรารอดได้ค่อนข้างสูงประมาณ 80-90% เลยทีเดียว แต่ข้อเสียของ Interferon แบบฉีดคือ มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมากนั่นเองค่ะ

โรคไข้หัดแมวเป็นโรคเฉพาะสัตว์ในตระกูลแมวเท่านั้นนะคะ ยังไม่มีรายงานว่าโรคนี้สามารถติดต่อถึงคนได้ ฉะนั้น ผู้เลี้ยงสบายใจได้เลยค่ะ นอกจากนี้ทางเราหวังว่าผู้เลี้ยงจะคำนึงถึงสุขอนามัยของน้องแมวมากขึ้น ยิ่งเลี้ยงรวมกันหลายตัวแล้วดูแลไม่ดี หากติดเชื้อขึ้นมามีหวังตายยกบ้าน ได้นอนร้องไห้ขี้มูกโป่งแน่นอนเลยค่ะ T_T

โรคหัด4

เรียบเรียงโดย : ปะการังสีเงิน

เคยลองดำน้ำแล้วเจอปะการังแปลกๆไหมคะ เราก็เป็นหนึ่งในนั้น เป็นคนเพี้ยนๆ แปลกๆ และมีเสน่ห์น่าค้นหา อยู่ด้วยแล้วจะมีความสุข เพราะสดใสร่าเริง อเลิร์ทตลอดเวลา ไม่ดราม่า ที่สำคัญรักสัตว์ รักโลก นะจ๊ะ