ห๊า! สุนัขเมารถได้ด้วยเหรอ?

11604
สุนัข เมารถได้ด้วยเหรอ

สุนัข เมารถได้ด้วยเหรอ?

สำหรับผู้เลี้ยงสุนัขแล้ว การมี สุนัข เดินทางไปเที่ยวกับเราด้วย ก็ทำให้การท่องเที่ยวทริปนี้น่าจดจำ และประทับใจยิ่งขึ้น สุนัขยังเป็นสัตว์ที่มีความเป็นนักสำรวจสูงมาก แม้แต่ตอนเช้าที่หน้าบ้าน เมื่อเราเปิดประตูออกมา พวกเขาก็จะรีบวิ่งออกมาดม ออกมาสำรวจพื้นที่อย่างตื่นเต้นทุกทีเลย จนเจ้าของสุนัขคว้าตัวเอาไว้แทบจะไม่ทัน แม้จะทำให้ปวดหัวไม่น้อย แต่สำหรับผู้เป็นเจ้าของแล้ว ก็เป็นภาพที่ทำให้เรามีความสุขเมื่อเห็นความร่าเริงแจ่มใสของมัน

แต่สำหรับการไปเที่ยวไกลๆ นั้น นอกจากจะมีข้อจำกัดในบางสถานที่ไม่ยินยอมให้สุนัขเข้าแล้ว ปัญหาใหญ่ยังมาจากตัวเจ้าสุนัขนั่นเอง ทำให้การเดินทางที่ควรจะแฮปปี้ กลายเป็นแฮปปี้ไม่ออกซะแล้ว เมื่อสุนัขของเราเอาแต่นอนน้ำลายไหลเยิ้มอย่างอ่อนเพลีย เราเรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่า อาการเมารถในสุนัข (motion sickness) ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเคยได้ยินอาการเมารถที่เกิดขึ้นในคนเท่านั้น แต่ความจริงแล้วน้องหมาก็เมารถได้เหมือนกันนะ แต่ว่าเรามักไม่ค่อยสังเกตกัน อาจตีความไปว่าสุนัขป่วยกะทันหันหรือเปล่า ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างกับคนเวลาเมารถ เมื่อประสาทการทรงตัวได้รับการกระตุ้นมากเกินไป เจ้าของสุนัขที่มีความจำเป็นต้องเดินทางกะทันหัน อาจไม่มีเวลาเตรียมความพร้อม หรือไม่เคยรู้ในเรื่องนี้ และสุนัขไม่เคยนั่งรถมาก่อน มีความเสี่ยงสูงมากที่สุนัขจะเกิดการเมารถ บางตัวรุนแรงถึงขั้นอ้วกออกมาเต็มเบาะหลัง และเจ้าของสุนัขก็เตรียมทำความสะอาดรถครั้งใหญ่ได้เลย

สุนัข เมารถ

อาการของสุนัขเมื่อเมารถ

อาการเมารถของสุนัขนั้นมีการแสดงออกที่แตกต่างกันออกไป ทั้งแบบที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน เห็นชัด และแบบที่ถ้าไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่รู้ว่าสุนัขมีอาการเมารถ หรือมันแค่ง่วงกันแน่ เจ้าของจึงต้องมีการสังเกตพฤติกรรมของสุนัขตนเองอยู่เสมอ ว่าปกติมีนิสัยเช่นไร เพื่อให้ง่ายต่อการประเมินอาการต่างๆ ของสุนัข

1.สุนัขจะแสดงความวิตกกังวลออกมา แต่เจ้าของไม่ทันสังเกต เช่น อาการลุกลี้ลุกลนที่ไม่ใช่การอยากรู้อยากเห็น แต่เป็นความกังวล เท้าเย็นกว่าปกติ สงบนิ่งผิดปกติหรือนอนซึมคล้ายจะหลับ แต่ไม่ได้หลับ

2.สุนัขเลียปากบ่อย มีน้ำลายสอ หน้าตาไม่ผ่อนคลาย ตึงเครียด

3.ชีพจรเต้นเร็ว หายใจถี่ๆ เหมือนจะหอบ เวลาเดินจะเซ

4.น้ำลายไหลมากขึ้นจนเยิ้มเปื้อนไปหมด

5.สุนัขจะขย้อนคอ อึกๆๆ แล้วอาเจียนออกมา ซึ่งเป็นขั้นที่รุนแรง และต้องรีบได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน บางรายอาเจียนจนหมดแรงถึงขั้นต้องรีบนำส่งสัตวแพทย์

สุนัข เมารถ

สาเหตุของการเมารถในสุนัข

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดอาการเมารถในสุนัขแยกได้เป็น 2 กรณี ดังนี้

1.สาเหตุแรก เกิดขึ้นตั้งแต่สุนัขยังไม่ก้าวขึ้นไปบนรถ หรือเรียกได้ว่า เป็นความกลัวรถนั่นเอง สุนัขอาจเคยเห็นตอนที่รถมันเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว หรือมีเสียงดังจนทำให้เขากลัว จนคิดไปว่ารถเป็นสิ่งอันตราย อาจทำให้ตัวสุนัขเจ็บปวดได้ เจ้าของสุนัขบางคนสั่งให้สุนัขขึ้นรถ แต่สุนัขไม่ยอมขึ้น ขัดขืนตัวเองเอาไว้ เจ้าของก็จะคิดไปว่าสุนัขดื้อ ไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่ง ก็เลยจัดการโดยการบังคับ และลากสุนัขขึ้นมาบนรถ แม้ว่าสุนัขจะขัดขืน นั่นอาจเป็นวิธีที่ยิ่งจะทำให้สุนัขเกิดความหวาดกลัว วิตกกังวลมากกว่าเดิม เมื่อรถขับออกไปสุนัขจะเกิดความเครียด ไม่ผ่อนคลาย อาการเหมือนกับคนเวลาเครียดมากๆ นั่นเอง จนลำไส้ และกระเพาะบีบตัวจนรู้สึกอยากจะอาเจียน น้ำลายสอ ก่อนจะไหลเยิ้มออกมา บางตัวถ้าไม่นอนซึม ก็จะแสดงความวิตกกังวลออกมาชัดเจน ด้วยการเดินไปนู้นไปนี่ ไม่ยอมอยู่นิ่งๆ จนอาจทำให้การขับรถเป็นอันตรายได้

2.สาเหตุที่เกิดจากประสาทการทรงตัวทำงานไม่สมดุล รถที่เหวี่ยงและสั่นสะเทือนมากเกินไป ทำให้สุนัขที่มีประสาทการทรงตัวที่ไวกว่าปกติจะรู้สึกเวียนหัว คลื่นไส้ น้ำลายสอ และอยากจะอาเจียนออกมา นอกจากนั้นยังมีการรับรู้จากหูชั้นในที่สัมผัสได้ว่ารถมีการเคลื่อนที่ แต่สายตาสุนัขไม่รับรู้ว่าตนเองกำลังเคลื่อนที่อยู่ เพราะเห็นว่าเจ้าของก็นั่งอยู่เฉยๆ และสุนัขบางตัวถูกสั่งให้นั่งอยู่ตรงพื้นรถทำให้มองไม่เห็นด้านนอกว่ารถกำลังวิ่งอยู่ ทำให้สุนัขเกิดการรับรู้ที่ขัดแย้งกันระหว่างหูชั้นในและสายตา สุนัขจึงเกิดการสับสน ส่งผลให้เกิดอาการเวียนหัว และคลื่นไส้ตามมา

วิธีการแก้ปัญหาสุนัขเมารถแบบเฉพาะหน้า

1.ถ้าหากว่ามีเหตุการณ์เร่งด่วนจำเป็นต้องนำสุนัขเดินทางไปด้วย ก็จะต้องใช้วิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน โดยจะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมรับมือกับอาการเมารถของสุนัข เช่น Dog car seat เพื่อให้สุนัขนั่งได้สะดวก ไม่ปีนป่ายไปทั่วรถ และปลอดภัยซึ่งหาซื้อได้ทั่วไปที่ร้านขายอุปกรณ์ดูแลสุนัขและห้างสรรพสินค้าบางแห่ง โดยเลือกให้พอเหมาะกับขนาดตัวสุนัขไม่ให้เล็กเกินไป เพราะสุนัขจะนอนไม่สะดวกสบาย นอกจากนั้นยังต้องเตรียมทิชชู ถุงมือ ถุงพลาสติก สำหรับเช็ดอ้วกด้วย เพราะสุนัขที่ไม่เคยนั่งรถมาก่อนจะมีโอกาสเมารถสูง การเตรียมอุปกรณ์ไปให้ครบครันจึงเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

2.ก่อนการเดินทาง จะต้องงดให้อาหารสุนัขเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เพื่อรอให้อาหารย่อยจนสุนัขท้องว่าง ป้องกันไม่ให้สุนัขอาเจียนออกมา ขณะกำลังเดินทางอยู่บนรถ เพราะอ้วกของสุนัขมีกลิ่นแรง จะรบกวนสมาธิในการขับรถ จนอาจต้องเปิดกระจกรถตลอดทาง

3.พกของเล่นที่สุนัขชอบไปด้วย โดยอาจเป็นผ้าห่มที่สุนัขห่มอยู่ทุกวัน จะทำให้สุนัขรู้สึกผ่อนคลายความกังวลขึ้นเมื่อได้กลิ่นประจำของตนเอง หรือไม่ก็อาจเป็นตุ๊กตาที่สุนัขคาบเล่นบ่อยๆ ให้เอาติดรถมาด้วย สำหรับเป็นเพื่อนการเดินทางของสุนัข เพราะสุนัขที่เพิ่งเคยขึ้นรถครั้งแรกจะไม่คุ้นชินกับกลิ่นใหม่ๆ และหวาดกลัวในที่แคบๆ ได้ ดังนั้น ของเล่นที่สุนัขชอบจะทำให้เขาสบายใจขึ้น คลายความกังวลลง

4.เจ้าของสุนัขจะต้องขับรถอย่างนุ่มนวล ไม่ขับฉวัดเฉวียนไปมา เพราะจะทำให้สุนัขมึนหัว และไม่ควรให้สุนัขนั่งพื้นรถ เพราะเป็นส่วนที่สั่นสะเทือนมากที่สุด จะไปกระตุ้นประสาทด้านการทรงตัวของสุนัข ทำให้รู้สึกคลื่นไส้และอยากจะอาเจียนออกมา ถ้าเจ้าของสุนัขไม่มี Dog car seat หรือหาซื้อไม่ทัน ก็ควรให้นั่งที่เบาะหลัง และถ้าหากกลัวว่าสุนัขจะอาเจียนออกมาขณะขับรถ ก็ให้นำผ้ายางมาปูรองเบาะรถเอาไว้ก่อนเพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาด

5.ในการเดินทางจะต้องมีการหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อให้สุนัขได้ลงจากรถมาเดินผ่อนคลาย มาสูดอากาศธรรมชาติ ลดความเครียดในการเดินทาง และผ่อนคลายตนเอง สุนัขจะได้ฉี่หรืออึ ไม่ควรให้สุนัขอึหรือฉี่เรี่ยราด เพราะจะเป็นภาพที่ไม่น่าดูสำหรับผู้ที่พบเห็น ควรเลือกที่เฉพาะและห่างไกลผู้คน และถ้าสุนัขอึก็ควรหาอะไรห่อแล้วทิ้งลงถังขยะให้เรียบร้อย

6.อีกวิธีก็คือ การให้สุนัขนั่งบนเบาะรถ แล้วมองออกไปนอกหน้าต่าง ไปยังพื้นที่ไกลๆ จะทำให้การรับรู้จากหูชั้นใน และสายตาตรงกัน สุนัขจะรู้ว่ารถกำลังเคลื่อนที่อยู่ อาการเวียนหัว คลื่นไส้จึงคลายลง นอกจากนั้นการแง้มกระจกลง ปล่อยให้อากาศถ่ายเทเข้ามาก็ทำให้สุนัขรู้สึกผ่อนคลายขึ้นอีกด้วย แต่ก็ไม่ควรแง้มกระจกมากเกินไป เพราะจะทำให้สุนัขที่ซุกซนปีนหลุดออกไปได้

สุนัข เมารถ

วิธีการแก้ปัญหาสุนัขเมารถที่เกิดจากการเมารถและกลัวรถ

1.อาการกลัวรถของสุนัขนั้นฝึกกันได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลาและความใส่ใจ เมื่อฝึกเสร็จแล้วสุนัขก็จะไม่กลัวรถอีก เหมือนเป็นการปรับพฤติกรรมอย่างถาวรโดยไม่ต้องพึ่งยา สามารถฝึกเองได้ที่บ้าน

2.เหตุผลที่สุนัขกลัวรถนั้นเกิดจากความไม่คุ้นชิน เพราะสุนัขไม่เคยขึ้นรถมาก่อน เจ้าของสุนัขจึงจะต้องฝึกให้สุนัขมีความคุ้นเคยกับรถให้ได้ โดยใช้วิธีการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ร่วมกับการใช้รางวัลเป็นตัวล่อ เป็นการซื้อใจสุนัข ง่ายที่สุดก็คือ การให้รางวัลเป็นของกินกับสุนัข เป็นวิธีที่สุนัขทุกตัวชอบมาก

3.เริ่มแรก เจ้าของสุนัขพาสุนัขไปที่รถ เปิดประตูให้สุนัขขึ้นมาบนรถ ถ้าสุนัขไม่ขึ้นก็อย่าใช้กำลังบังคับ เพราะจะยิ่งทำให้สุนัขหวาดวิตก และเกิดการต่อต้านการฝึกได้ วิธีง่ายๆ ก็คือ นำอาหารมาล่อสุนัข ให้เขาเดินตามขึ้นมาเอง โดยให้สุนัขกินอาหารบนรถ

4.ปล่อยให้สุนัขนั่งอยู่บนรถโดยยังไม่ต้องสตาร์ทรถ ปล่อยให้สุนัขได้อยู่แบบนั้นไปก่อน สุนัขจะหันมองสำรวจสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ถ้าหากสุนัขอยู่ได้นานโดยไม่มีทีท่าจะกระโจนหนี เจ้าของสุนัขก็ให้รางวัลที่เป็นอาหารกับสุนัข

5.เริ่มสตาร์ทรถ แล้วสังเกตอาการของสุนัขว่ามีท่าทีตกใจ หวาดกลัว หรืออยากกระโจนลงรถหรือไม่ โดยยังไม่ต้องขับรถออกไป ถ้าหากสุนัขนั่งได้นานจนพอใจแล้ว ก็ค่อยๆ ขับรถออกไป แต่ไม่ต้องขับรถออกไปไกลนัก โดยจอดเป็นระยะใกล้ๆ ที่ตั้งไว้ เมื่อขับมาถึงเป้าหมาย ก็ให้รางวัลสุนัขอีกอีกครั้ง

6.วันต่อมาให้ขับไปไกลขึ้นกว่าเดิม และระยะห่างจากจุดแรก ไปจุดถัดไปก็ให้ไปไกลกว่าเดิมขึ้นเรื่อยๆ สุนัขจะได้รับการปรับตัวขึ้นทีละนิด จนในที่สุดก็จะเกิดความเคยชิน ไม่รู้สึกเมารถอีกต่อไป ไม่ว่าจะนั่งตรงไหน ยกเว้นช่วงที่กำลังป่วย สิ่งสำคัญก็คือ เจ้าของสุนัขจะต้องมีวินัยในการฝึก และจัดหาเวลาว่างเพื่อมาฝึก การเตรียมตัวล่วงหน้าจึงเป็นวิธีการป้องกันการเมารถในสุนัขได้ดีที่สุด

สุนัข เมารถ

วิธีการแก้ปัญหาสุนัขเมารถด้วยการพบสัตวแพทย์

1.เป็นวิธีสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาฝึกสุนัข จำเป็นต้องเดินทางกะทันหัน หรือว่าระบบประสาทของสุนัขตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นไวเกินไป จนต้องมีการใช้ยาเพื่อให้สุนัขไม่เมารถ ซึ่งเจ้าของสุนัขไม่ควรไปหายาซื้อเอง ควรพาสุนัขไปหาสัตวแพทย์เพื่อจ่ายยาให้ตามขนาดน้ำหนักตัว

2.ยาที่สัตวแพทย์แนะนำจะเป็นยาที่ทำให้สุนัขรู้สึกซึม และสงบ แต่ไม่ได้หลับ ต้องใช้ยาตามขนาดน้ำหนักตัว เพราะถ้ารับยามากเกินไปจะทำให้สุนัขซึมเป็นเวลานาน บางตัวต้องรอวันถัดไปถึงจะหาย ไม่แนะนำให้ใช้ในสุนัขที่ตั้งครรภ์ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ความดันโลหิตสูง และจะต้องกินยาก่อนออกเดินทางอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ยาได้ประสิทธิภาพสูงสุด

สุนัขเป็นดังเพื่อนร่วมเดินทางของใครหลายคน ดังนั้น การทำให้เพื่อนร่วมเดินทางมีความสุข ก็ถือว่าเป็นสิ่งดีๆ และทำให้การเดินทางครั้งนี้ของเรามีความสุขด้วยเช่นกัน