วิธีดูแลรักษา โรคเรื้อน ในสุนัข
• โรคผิวหนัง หรือ โรคเรื้อน ในสุนัข แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ โรคขี้เรื้อนแห้ง และ โรคขี้เรื้อนเปียก
• หากพบว่าสุนัขที่เลี้ยงกำลังประสบปัญหาโรคขี้เรื้อน ให้รีบนำไปรักษาทันที เพราะหากรักษาช้า ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน และยังส่งผลต่อลักษณะภายนอกของสุนัขด้วย
หากพูดถึง โรคผิวหนัง ในน้องหมา คงหนีไม่พ้น “โรคขี้เรื้อน” ถือเป็นโรคที่รักษายาก ใช้เวลาฟื้นตัวนาน และส่งผลต่อลักษณะภายนอกอย่างชัดเจน ทำให้น้องหมาไม่น่ารัก ไม่น่าเลี้ยง เอาเสียเลย วันนี้ Petcitiz จึงขอพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับโรคนี้ให้ดียิ่งขึ้นค่ะ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันให้กับน้องหมาที่บ้านด้วย ตามมาดูกันเลยค่า
โรคขี้เรื้อนในสุนัข สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้
1.โรคขี้เรื้อนแห้ง
เกิดจากตัวไรที่อาศัยอยู่ใต้ผิวหนัง น้องหมาจะมีอาการคัน และเกาอย่างรุนแรง ทำให้เกิดคราบสะเก็ดตามตัว เรียกว่า ขี้เรื้อนแห้ง อาการที่สังเกตง่ายๆ คือ ขนร่วงทั้งตัวคล้ายหนังกลับ บางตัวอาจพบว่าขนร่วงรอบใบหู เมื่อเอามือไปขยี้ น้องหมาจะมีอาการคันมากขึ้น โดยขยับเท้าหลังไปมาพร้อมกับการขยี้ใบหู ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะลุกลามทั่วลำตัว กลายเป็นหมาขี้เรื้อนไร้ขน และผิวหนังเกิดการอักเสบทั่วทั้งตัว
การรักษา
1.ฉีดยา Ivermectin ทุก 1-2 สัปดาห์ โดยต้องฉีดต่อเนื่อง 2-3 ครั้ง แต่ยาชนิดนี้ห้ามใช้ในน้องหมาบางพันธุ์นะคะ เช่น Collie, Old English sheepdog, Shetland sheepdog, Australian Shepherds รวมทั้งพันธุ์ลูกผสม เพราะจะมีความไวต่อยาสูง อาจเกิดอาการแพ้ยาได้ง่าย
2.ใช้ยา Moxidectin+Imidaclopid หยดติดต่อกัน 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ (สามารถใช้ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงได้นะคะ)
3.รักษาด้วยยา Selamectin ทุก 2 สัปดาห์ ติดต่อกัน 3 ครั้ง (สามารถใช้ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงได้เช่นกัน)
4.ป้อนยา Milbemycin Oxime สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องกัน 4 สัปดาห์ มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงกว่าวิธีอื่น
2.โรคขี้เรื้อนเปียก
ขี้เรื้อนชนิดนี้เกิดจากตัวไรเช่นเดียวกับขี้เรื้อนเปียก การติดต่อไม่ได้เกิดจากการสัมผัส แต่ติดต่อโดยภาวะภูมิต้านทานในตัวต่ำ เพราะไม่สามารถควบคุมตัวไรใต้รูขุมขนได้ สายพันธุ์ที่มีแนวโน้มในการเกิดโรคนี้สูง คือ พิทบูล, ชิสุ, ไซบีเรียน, เชาเชา เป็นต้น
ส่วนอาการที่เกิดขึ้น บางตัวอาจมีให้เห็นเฉพาะที่ ไม่เกิน 4 จุด หรือน้อยกว่านั้น แต่ขี้เรื้อนชนิดนี้ไม่ติดต่อมาสู่คนค่ะ โดยน้องหมาที่เป็นขี้เรื้อนจะมีอาการขนร่วง ไม่คันมาก เว้นแต่มีการติดเชื้อใต้ผิวหนัง และเกิดการลุกลามมากขึ้น เช่น เกิดตุ่มหนองใต้ท้อง ใต้รูขุมขนตามตัว หรือบางตัวตุ่มหนองแตก ทำให้เลือดไหลออกจากผิวหนัง
การรักษา
1.ป้อนยา Ivermectin หรือ Milbemycin Oxime ให้น้องหมาขี้เรื้อนวันละ 1 ครั้ง สำหรับยา Ivermectin ให้ระวังในสุนัขพันธุ์เสี่ยงด้วย
2.หยอดด้วยยา Moxidectin+Imidaclopid ทุก 1-2 สัปดาห์
3.ฉีดยา Doramectin ทุก 1-2 สัปดาห์ (แต่ห้ามใช้ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงนะคะ)
4.พ่น หรือทายา Amitraz บนตัวน้องหมาทุกสัปดาห์ แนะนำว่าตัดขนให้สั้นก่อน เพื่อให้ยาสัมผัสกับบริเวณผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น ควรสวมปลอกคอกันเลีย เพื่อป้องกันน้องหมาเลียยาด้วย
คงได้ความรู้เกี่ยวกับโรคขี้เรื้อนที่เกิดกับน้องหมาไม่น้อยเลยนะคะ อย่างไรก็ตามการรักษาน้องหมาขี้เรื้อนให้หายขาด ควรทำควบคู่ไปกับการให้ความรัก ความอบอุ่น และหลีกเลี่ยงการปล่อยน้องหมาออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านโดยไม่มีผู้ดูแล เพราะมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อสูง ทำให้รักษายาก และกินเวลานานขึ้นไปอีก
เรียบเรียงโดย : ไอ้หล่อ
คือชื่อสัตว์เลี้ยงตัวแรกที่เราเลี้ยง แค่ชื่อก็ดูแปลกแล้ว เพราะสัตว์เลี้ยงของเราคือเม่นแคระ เป็นสัตว์ที่ชอบหากินในเวลากลางคืน เหมือนเราเองที่ชื่นชอบงานเขียน และเรื่องราวต่างๆ มาเล่าให้ฟังยามดึก นอกจากเป็นนักเขียนที่รักสัตว์แล้ว เรายังชอบเลี้ยงสัตว์ด้วยนะ