แมวก็มีสังคมด้วยหรอ!? มาดูวิธีฝึกแมวเข้าสังคมกันเถอะ

6323
แมว เข้าสังคม

เทคนิคฝึก แมว เข้าสังคม

– การพา แมว เข้าสังคมอาจจะฟังดูแปลกๆ ไปสักหน่อยสำหรับบางคน เพราะโดยทั่วไปเรามักเข้าใจว่า แมวเป็นสัตว์รักสันโดษ การเข้าสังคมจำเป็นสำหรับแมวจริงๆ เหรอ แต่รู้ไหมว่า แมวก็ต้องมีสังคมเหมือนกันนะ แล้วจะเข้าสังคมแบบไหน เพื่อเหตุผลอะไร ตามไปดูกันเลยค่ะ

01

ผู้เลี้ยงหลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่า ทำไมเจ้าเหมียวต้องฝึกการเข้าสังคม แค่ให้ แมว กินอาหาร เล่นของเล่น และนอนกลิ้งไปวันๆ ก็เพียงพอต่อชีวิตแล้ว ซึ่งความจริงนั้นไม่ใช่เลยค่ะ เขาต้องได้รับการฝึกเข้าสังคมเช่นเดียวกับมนุษย์ เพื่อลดสัญชาตญาณดิบในตัว อยู่ร่วมกันกับมนุษย์ และสัตว์อื่นได้อย่างสุขสงบ

เหมือนดังเช่นบรรพบุรุษของแมวอย่างสิงโต ที่อาศัยการเข้าสังคมเพื่อพึ่งพากันและกัน เพื่อการล่า และเพื่อการเอาตัวรอดในทุ่งกว้างนั่นเองค่ะ การพาเจ้าเหมียวเข้าสังคมเป็นอย่างไร Petcitiz ได้รวบรวมข้อมูลมาให้เพื่อนๆ หมดแล้วค่ะ ตามไปดูกันเลยจ้า

02

การเข้าสังคม

แมวเป็นสัตว์ที่มีสัญชาตญาณเป็นนักล่า และมีความเป็นสัตว์ป่าสูงมาก เมื่อเทียบกับสุนัข การพาแมวเข้าสังคมถือเป็นกุญแจสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้แมวลดสัญชาตญาณดิบเหล่านั้นได้ โดยช่วงอายุที่เหมาะสม คือ ระหว่าง 2–8 สัปดาห์ เพราะเป็นช่วงเวลาสำคัญในการพัฒนาสมองของแมวค่ะ

นักวิทยาศาสตร์เรียกช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้นี้ว่า “ช่วงการเข้าสังคม” แมวจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ การมอง การได้ยิน การรับรส การรับกลิ่น และการสัมผัส เขาจะเริ่มเรียนรู้สภาพแวดล้อมโดยรอบ กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของร่างกาย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้เขาเติบโตไปเป็นสัตว์เลี้ยงที่ดี

สิ่งสำคัญอันดับแรกในการพาเขาเข้าสังคม เพื่อให้เขาเป็นสัตว์เลี้ยงที่ดี คือ การแนะนำให้เจ้าเหมียวรู้จักกับมนุษย์ เช่น การลูบหัว เกาท้อง จับอุ้งเท้า หรืออุ้มขึ้นมาเล่น พฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยทำให้เขามีความอดทนจากสิ่งต่างๆ ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ และเพื่อให้เจ้าเหมียวเข้าใจว่า นี่คือสิ่งที่พวกมันต้องเจอ และเคยชินต่อไปในอนาคตนั่นเอง

แมว เข้าสังคม

การให้ความอบอุ่นโดยการลูบขน หรือจับเขามานั่งนอนบนตัก เป็นสิ่งที่ควรทำนะคะ เพราะความสัมพันธ์ที่ทำให้คนกับแมวเข้ากันได้นั้น ไม่ได้เกิดจากสัญชาตญาณค่ะ แต่เกิดจากการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดี

จากผลการทดลอง พบว่า แมวที่ถูกอุ้ม 40 นาทีต่อวัน จะสามารถอยู่บนตักคนได้นานกว่าแมวที่ถูกอุ้ม 15 นาทีต่อวัน โดยถ้าเพิ่มเวลาที่ถูกอุ้มมากขึ้น ก็จะทำให้เขาใกล้ชิดกับคนได้ง่ายยิ่งขึ้น

ส่วนการฝึกฝนเพิ่มเติม เช่น นำผ้าของสัตว์ตัวอื่นมาให้เขาดม ให้ฟังเสียงที่ไม่คุ้นหูอย่างเสียงเด็ก เสียงสุนัขเห่า เสียงเครื่องดูดฝุ่น ฯลฯ การทำแบบนี้กับเจ้าเหมียวในช่วงวัยเข้าสังคมเข้าใจสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น หรือสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแปลกใหม่ได้อย่างทันท่วงทีค่ะ

ปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้รับการเข้าสังคม

ถ้าเกิดว่าเหล่าลูกแมวไม่ได้รับการเรียนรู้ในช่วงเข้าสังคมที่เพียงพอ พวกเขาจะเกิดความกังวลกับสิ่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน และอาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่อาจตามมา เช่น ซ่อนตัวอยู่ตามมุมอับอย่างใต้บันได ใต้ตู้ เวลาเจอคนแปลกหน้าเข้ามาในบ้าน หรือมีพฤติกรรมไม่ดีถึงขั้นขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง เพราะเขามีความกังวลกับการพบปะสิ่งที่ไม่คุ้นชิน เนื่องด้วยประสบการณ์การเข้าสังคมที่ไม่มากพอตั้งแต่ตอนเป็นลูกแมวตัวเล็กๆ นั่นเองค่ะ

โดยรวมแล้วเหล่านี้ถือว่าเป็นความสามารถเฉพาะตัวของแมวเลยนะคะ ที่สามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และสัญชาตญาณของสัตว์ป่า ให้กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงแสนเชื่องในบ้านของเรา อีกทั้งเพื่อนๆ ก็ไม่ต้องกังวลว่าหากเขาหนีหายออกจากบ้านไปเขาจะใช้ชีวิตอย่างไร เพราะเขาสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยดึงสัญชาตญาณความเป็นสัตว์ป่าที่ถูกฝังอยู่ในดีเอ็นเอกลับมาใช้นั่นเองค่ะ

การฝึกแมวเข้าสังคมนับเป็นการเสริมสร้างทักษะทางด้านร่างกาย และพัฒนาสมอง เพื่อให้เขาสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้เลี้ยงอย่างเรา หรือสัตว์เลี้ยงต่างพันธุ์ชนิดอื่น

และถึงแม้ว่าเขาจะมีสัญชาตญาณดิบของสัตว์ป่าอยู่ในตัว แต่เขาก็พร้อมที่จะเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อใช้ชีวิตอยู่กับเราอย่างสุขสงบนะคะ ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เรากลายเป็นทาสของเจ้ามิ้วน้อยไปโดยไม่รู้ตัว

04

แมว เข้าสังคม

เรียบเรียงโดย : น้องแมวสีเทา "น้องแมวสีเทาชื่นชอบในการเลี้ยงดูแลแมวและรักความเป็นแมวอย่างสุดหัวใจ มีประสบการณ์ในการเลี้ยงสัตว์มามากกว่า 10 ปี ชอบค้นหาข้อมูลและเทคนิคการเลี้ยงสัตว์ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาแบ่งปันกับเพื่อนๆต่อไป"