แมวเจ้าถิ่นกับแมวใหม่ ผูกมิตรกันง่าย ทำได้ไม่ยาก

97868
แมว วิธีผูกมิตร

วิธีผูกมิตร แมว

• หากคุณอยากเลี้ยง แมว เพิ่ม แต่กลัวว่าแมวใหม่และแมวเก่าจะทะเลาะกัน วันนี้เรามีวิธีผูกมิตรง่ายๆมาฝากค่ะ


แมว เป็นสัตว์ที่มีนิสัยหวงถิ่นมากๆ ไม่ว่าจะไปที่ไหนมันก็จะยึดครองพื้นที่ไว้ และเมื่อมีแมวแปลกหน้ารุกล้ำเข้ามา ก็ยิ่งจะแสดงความเป็นเจ้าถิ่นมากขึ้น ยิ่งเป็นแมวตัวผู้ด้วยแล้วล่ะก็ การมีผู้รุกล้ำเข้ามาในอาณาเขตถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ ต้องต่อสู้ขับไล่กันจนถึงที่สุด หากคุณอยากเอาแมวตัวใหม่เข้าบ้านมาเลี้ยงเพิ่ม แต่กลัวว่าจะทะเลาะกันกับแมวตัวเก่า วันนี้ Petcitiz มีวิธีผูกมิตรแมวเจ้าถิ่นกับแมวใหม่มาฝากค่ะ

วิธีทำให้แมวเข้ากันได้
1.แยกห้องเพื่อให้แมวใหม่ได้ปรับตัว
สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อนำแมวใหม่เข้ามาในบ้านคือ การแยกห้อง เพื่อให้แมวตัวใหม่ปรับตัวให้คุ้นชินกับที่อยู่ใหม่ซะก่อน โดยการนำแมวใหม่ไปไว้ในห้อง หรือกรงที่มีขนาดกว้าง รวมถึงเตรียมกระบะทราย น้ำ อาหาร ที่นอน และของเล่นอื่นๆ ไว้ให้ด้วย อาจใช้เวลาปรับตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์ ที่สำคัญอย่าเพิ่งให้แมวใหม่และแมวเก่าเจอหน้ากันในช่วงแรกๆ โดยเด็ดขาด เพราะแมวตัวเก่าอาจจะมีการขู่ ไม่สนใจ เมิน หรือเพิกเฉยต่อเจ้าของไปด้วย เนื่องจากยังไม่คุ้นกับกลิ่นของแมวตัวใหม่ที่ติดมากับเจ้าของนั่นเอง

2.ทำความคุ้นเคยกับกลิ่นเสียก่อน
เมื่อทำการแยกแมวตัวใหม่ไว้ประมาณ 1 สัปดาห์แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การทำให้แมวตัวใหม่และแมวตัวเก่าทำความคุ้นเคยกับกลิ่น โดยแปรงขนแมวตัวเก่า และแมวตัวใหม่ด้วยแปรงอันเดียวกัน ให้กินอาหารใกล้ๆ กัน โดยวางชามใส่อาหารไว้คนละด้านของประตู แต่ต้องเฝ้าระวังเล็กน้อยเพราะยังให้เจอหน้ากันไม่ได้ หรือเวลาที่พาแมวตัวใหม่ออกไปข้างนอก ให้นำแมวตัวเก่าเข้าไปสำรวจพื้นที่ในห้องของแมวตัวใหม่ที่แยกไว้ แล้วแมวตัวเก่าจะค่อยๆ ทำความคุ้นเคยกับกลิ่นของแมวตัวใหม่ไปโดยปริยาย

3.ได้เวลาที่แมวตัวเก่าเจอหน้าแมวตัวใหม่แล้ว
สำหรับการให้แมวเก่าและแมวใหม่เจอหน้ากัน ไม่ควรปล่อยให้แมวทั้ง 2 ตัว เผชิญหน้ากันโดยตรงแบบตัวต่อตัว แต่ให้ใช้วิธีนำแมวตัวใหม่ใส่ไว้ในกรง และให้แมวตัวเก่าเข้ามาในห้อง หรือใกล้ๆ กับพื้นที่ของแมวใหม่ ระหว่างนั้นเจ้าของก็คอยสังเกตปฏิกิริยาของแมวทั้ง 2 ตัว ที่มีต่อกัน

แมวเหมียว

4.เฝ้าสังเกตปฏิกิริยา
เมื่อให้แมวทั้งสองเจอหน้ากันแล้วก็ต้องมีชั้นเชิงกันหน่อย ถ้ามีการขู่หรือแยกเขี้ยวใส่กันเกิดขึ้น ให้แยกแมวทั้ง 2 ตัวออกจากกันทันที แล้วจึงอุ้มมาเจอหน้ากันใหม่อีกครั้ง โดยแมวใหม่จะต้องอยู่ในกรงตลอด ทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีตัวใดตัวหนึ่งขู่ หรือเริ่มเล่นด้วยกันบ้าง แรกๆ ให้จำกัดเวลาที่อยู่ด้วยกันก่อน ทำแบบนี้ประมาณ 3-4 วัน หลังจากนั้นก็ค่อยปล่อยแมวตัวใหม่ออกมาจากกรงเพื่อให้เขาสัมผัสกันได้

5.ปรับพฤติกรรมการกิน
ถึงแม้ว่าทั้งแมวตัวเก่าและแมวตัวใหม่จะเล่นด้วยกันแล้วก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้ยืนยันว่าแมวทั้ง 2 ตัว จะอยู่ร่วมกันได้ ตัวอย่างเช่น ตอนกินอาหาร แมวตัวเก่าที่เคยกินอาหารโดยลำพังมานาน อาจจะยังไม่ยอมรับเมื่อมีแมวตัวใหม่มากินอาหารใกล้ๆ แบบเห็นหน้ากันโดยตรง ส่วนวิธีที่จะช่วยทำให้เจ้าถิ่นยอมรับน้องใหม่ได้ง่ายขึ้นคือ เราต้องเอาใจฝั่งเจ้าถิ่นให้มากกว่าฝั่งผู้มาใหม่ เวลาจะให้อาหาร ขนม ก็ต้องให้เจ้าถิ่นก่อนเสมอ ห้ามให้แมวใหม่ก่อนเด็ดขาด ต้องให้ความสำคัญกับเจ้าถิ่นมากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันอาการน้อยใจที่พาแมวใหม่เข้ามาแบ่งอาณาเขต เพราะแมวบางตัวที่ขี้น้อยใจอาจถึงขั้นไม่ยอมกินอาหารจนป่วยไปเลยก็มี

6.ปล่อยให้อยู่ด้วยกัน
หลังจากปล่อยให้แมวตัวใหม่ออกจากพื้นที่ส่วนตัวที่แยกไว้ เพื่อมาอยู่ร่วมกับแมวตัวเก่าแล้ว ในระยะแรกอย่าเพิ่งให้ใช้ของร่วมกัน เพราะแมวอาจจะยังมีอาการหวงความเป็นส่วนตัวอยู่ ควรแยกที่นอน ของแล่น และกระบะทราย ให้แมวแต่ละตัวก่อน เมื่อแมวทั้ง 2 ตัว เริ่มเล่นและนอนด้วยกัน ก็แสดงว่าสามารถใช้กระบะทราย หรือของใช้อื่นๆ ร่วมกันได้แล้ว เพียงเท่านี้คงจะไม่เกิดการทะเลาะกันแล้วค่ะ

แมว วิธีผูกมิตร

ยังไงก็ขอเอาใจช่วยเหล่าทาสแมวที่กำลังคิดจะนำน้องแมวตัวใหม่มาเลี้ยงรวมกับแมวตัวเก่าด้วยนะคะ แมวเป็นสัตว์ที่หวงถิ่นเป็นอย่างมาก ฉะนั้น ทุกอย่างจึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการฝึกฝน เพื่อให้เขาปรับตัวเข้าหากันได้ อย่าเร่งรีบจนเกินไป น้องแมวจะได้ไม่เครียดด้วยนะคะ

เรียบเรียงโดย : ไอ้หล่อ

คือชื่อสัตว์เลี้ยงตัวแรกที่เราเลี้ยง แค่ชื่อก็ดูแปลกแล้ว เพราะสัตว์เลี้ยงของเราคือเม่นแคระ เป็นสัตว์ที่ชอบหากินในเวลากลางคืน เหมือนเราเองที่ชื่นชอบงานเขียน และเรื่องราวต่างๆ มาเล่าให้ฟังยามดึก นอกจากเป็นนักเขียนที่รักสัตว์แล้ว เรายังชอบเลี้ยงสัตว์ด้วยนะ